ข้ามไปเนื้อหา

แท็กซี่ขอขึ้นค่าโดยสารระยะไกล อ้างค่าครองชีพสูง

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

24 ตุลาคม พ.ศ. 2550 

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานประธานคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในรถแท็กซี่ กล่าวว่า ที่ประชุมตั้งเป้าหมายเปลี่ยนรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีมาเป็นก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมดภายใน 2 ปีหรือภายในปี พ.ศ. 2552

โดย ปตท.จะลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มูลค่า 40,000 บาท/คัน รวม 2,000 ล้านบาทให้ฟรี คาดว่าจะทำให้ ปตท.คุ้มทุนจากการนำก๊าซแอลพีจีไปส่งออก หรือนำไปผลิตปิโตรเลียมต่อเนื่องภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ ปตท.สามารถบริหารก๊าซแอลพีจีส่วนนี้เอง โดยไม่เข้ากฎเกณฑ์เรื่องการควบคุมการส่งออก

ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณแอลพีจีส่วนนี้เหลือประมาณ 540,000 ตัน/ปี และหากคิดส่วนต่างเฉพาะเพดานการจำหน่ายในประเทศ (315 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) กับมูลค่าส่งออกหรือราคาตลาดโลก เพียง 200 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ภายใน 1 ปี ปตท.จะมีรายได้สูงถึง 3,700 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้ ปตท.ยังเร่งตอบสนองข้อเสนอของผู้ขับรถแท็กซี่ที่ขอให้เร่งขยายปั๊มเอ็นจีวี โดยภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 จะมีสถานีในเขต กทม.เพิ่มอีก 37 สถานี จากขณะนี้มี 88 สถานี และเร่งสร้างสถานีขนาดใหญ่ในพื้นที่รอบ กทม. เช่น สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ สายเหนือ ร่มเกล้า ซึ่งแต่ละสถานีมี 20 หัวจ่าย จะสามารถเติมเอ็นจีวีในช่วงเร่งด่วนได้ถึง 2,000 คัน/สถานี รวมทั้งจะเจรจาปรับเปลี่ยนปั๊มแอลพีจีเป็นเอ็นจีวี มีการเร่งนำเข้ารถขนส่งเอ็นจีวี โดยในส่วนนี้ ปตท.จะลงทุนเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท

นายประวุฒิ พิพิธสุขสันต์ ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) กล่าวว่า คาดว่ากระทรวงพลังงานและ ปตท. จะทำตามแผนที่กำหนดเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง แต่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากแอลพีจีเป็นเอ็นจีวีใน 2 ปีนี้ ต้องยอมรับว่าแท็กซี่จะได้รับผลกระทบจากแอลพีจีที่จะปรับขึ้นราคาในเดือนธันวาคมนี้ 1.29 บาท/กก.

ซึ่งในประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องหลักที่ผู้ประกอบการแท็กซี่ขอปรับราคาค่าโดยสาร เพราะต้นทุนเชื้อเพลิงไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก แต่ปัจจัยที่ขอปรับ คือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และราคามิเตอร์ไม่ได้ปรับมาในช่วงกว่า 10 ปี โดยในส่วนที่ขอปรับไม่ได้ขอปรับในช่วง 35 บาทแรก แต่ขอปรับในช่วงระยะทาง 10-20 กิโลเมตร

แหล่งที่มา