เซ็นทรัล-เดอะมอลล์ รอดพ้นเงื่อนไขร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยระหว่างชี้แจงคณะกรรมมาธิการการพาณิชย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ.... ว่า กรมฯ เตรียมร่างกฎกระทรวง ที่จำเป็นควบคู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของ สนช. โดยมีสาระสำคัญ คือ ร้านค้าปลีกที่ไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. มี 3 ประเภท ได้แก่
- ดีพาร์ท เม้นท์ สโตร์ เช่น ห้างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบิน สัน เนื่องจากเป็นการขายปลีกสินค้าระดับบน ที่มีราคาสูงกว่าร้านค้าปลีกรายย่อย และไม่ได้ทำให้ร้านค้าปลีกรายย่อยได้รับผลกระทบ
- แคท เทอ กอลลี่ คิลเลอร์ ร้านสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น เพาเวอร์บาย
- สเปเชียลตี้ สโตร์ ซึ่งเป็นร้านขายปลีกสินค้าเฉพาะ เช่น ร้านขายยา ร้านขายอัญมณีและเครื่องประดับ ร้านขายหนังสือ หนังสือพิมพ์
อย่างไรก็ตามหากห้างค้าปลีกไปเปิดสาขาในพื้นที่ของดีพาร์ทเมนท์ สโตร์ ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจค้าปลีก เพราะเข้าเงื่อนไขการพิจารณาจากตัวผู้ประกอบการเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาสถานที่ประกอบการ ส่วนประเภทธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มี 4 ประเภท ได้แก่
- ดิสเคาท์สโตร์
- ไฮเปอร์มาร์เกต
- ซูเปอร์มาร์เกต
- แคช แอนด์ แครี่ เช่น ห้างแม็คโคร
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สนช. กล่าวว่า ต้องการให้ร่างกฎหมายดังกล่าวพิจารณาเสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ และเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ดูแลให้ผู้ค้าปลีกทุกรายอยู่ร่วมกันได้
น.ส.เพียรใจ โรจนสินวิไลย ตัวแทนจากสมาพันธ์ต้านค้าปลีกต่างชาติ กล่าวว่า แม้ภาครัฐจะออกหลักเกณฑ์เพื่อชะลอการขยายสาขา ระหว่างรอกฎหมาย แต่ในหลายพื้นที่ยังมีการขยายสาขาของห้างค้าปลีกต่อเนื่อง และห้างค้าปลีกได้ส่งพนักงานมาสำรวจราคาร้านค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่ว่าจำหน่ายราคาสินค้าเท่าไหร่ เพื่อจะนำไปลดราคาในห้างให้ถูกกว่าประมาณ 1-3 บาท ทำให้ร้านค้าย่อยได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถต่อรองราคากับผู้ผลิตได้เท่าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
แหล่งที่มา
- เดลินิวส์ "เซ็นทรัล-เดอะมอลล์รอดตายชี้พ้นกรงเล็กร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, 1 พฤศจิกายน 2550
- ไทยรัฐ "'เซ็นทรัล' รอดกฎหมายค้าปลีก". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 1 พฤศจิกายน 2550