ข้ามไปเนื้อหา

รัฐบาลเปิดกว้างประชุมร่วมสองสภา

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 

จากกรณีที่จะมีการอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่คาดว่าจะเริ่มในวันที่ 6 มีนาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลพร้อมเปิดกว้างทุกประเด็น หากมีการซักถามแล้วเกิดความชัดเจน ย่อมสอบถามได้ โดยไม่จำเป็นว่า จะมีกี่ประเด็น และต้องใช้เวลานานเท่าใด แต่หากมีการแบ่งประเด็นย่อย อาทิ การปลดล็อกสังกัดพรรคการเมืองของ ส.ส. 90 วัน ก่อนการเลือกตั้ง หรือ เรื่องจริยธรรมต่าง ๆ หากอภิปรายแล้วทำให้หายข้องใจรัฐบาลก็พร้อมตอบข้อซักถาม

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเรื่องที่จะนำเข้าพูดคุยในที่ประชุม เช่น ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งประเด็นที่มีการพูดถึงขณะนี้ คือ เรื่องความเชื่อมั่น และการบังคับใช้ทางกฎหมายของหน่วยงานของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การปฏิรูปการเมืองซึ่งอาจจะมีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทุจริตในวงราชการ การเจรจาเขตการค้าเสรี การดูแลความสงบเรียบร้อยจากการชุมนุมเรียกร้องต่าง ๆ เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าเรื่องใดที่เป็นปัญหา สามารถสอบถามได้ทุกเรื่อง โดยรัฐบาลจะไม่มีการกำหนดเวลาในการประชุม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาล และประเทศชาติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การจัดประชุม 2 สภา ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อลดกระแสการชุมนุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ แต่เห็นว่า หากเปิดให้มีการพูดคุยในรัฐสภา จะเป็นอีกทางออกให้ประชาชนได้รับทราบบทบาทของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาราชการแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่าควรเปิดอภิปรายในญัตติที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านจริยธรรม และนายกรัฐมนตรีควรเป็นผู้ตอบปัญหาด้วยตนเอง และกล่าวอีกว่า การที่พรรคไทยรักไทยจะเปิดปราศรัย เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนที่ท้องสนามหลวงนั้น เป็นการเล่นการเมืองนอกสภา ซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐบาลกล่าวอ้างมาตลอด

ด้านนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติโดยกล่าวว่าคงไม่มีประโยชน์อะไร และสายเกินไปที่จะพูดกันในสภา เนื่องจากประชาชนรู้ข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมาเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ เป็นการทุจริตแบบไตร่ตรองไว้ก่อน และกลุ่มวังน้ำเย็นก็คงไม่ร่วมลงชื่อเพื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกับฝ่ายค้านแน่นอน

แหล่งที่มา