ข้องใจ "เมกะโปรเจ็กต์" เซ็งลี้ให้ต่างชาติ ไม่รวมโทรคมฯ

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

17 ธันวาคม พ.ศ. 2548 
หลายฝ่ายข้องใจรัฐบาลถังแตก ต้อง "เปิดท้ายขายของ" ให้ต่างชาติมาเืถือเนื้อไปกิน "อภิสิทธิ" จี้ใจดำเปิดทุกโปรเจ็กต์เว้นแต่กิจการโทรคมนาคมเท่านั้น ส.ส.กรุงเทพ "ขำกลิ้ง" รถไฟฟ้าสิบสี กลายเป็นนิยายหักมุม จะ 7 หรือ 10 สาย ก็ใช้เงินเท่ากัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังคงวิจารณ์นโยบายให้ต่างชาติมาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศไทยว่า วันนี้รัฐบาลหมดกำลังที่จะไปต่อรองกับผู้ลงทุนต่างชาติแล้ว ว่าจะให้เขาลงทุนทำอะไรบ้าง จึงต้องใช้วิธีสัมปทานเลหลังประเทศ บอกว่าใครต้องการอะไรก็เข้ามา เราจะเฉยปล่อยให้รัฐบาลพัฒนาประเทศแบบนี้ต่อไปหรือไม่ คนไทยจะต้องเป็นคนกำหนดเงื่อนไขเองว่า จะให้ทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศโครงการไหน แต่ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้บริหารด้วยการกู้เงิน สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลือ ต้องสัมปทานประเทศเลหลัง ใครอยากได้อะไรก็มาเอา ให้เลือกทำธุรกิจได้แทบทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่ด้านความมั่นคง คงยกเว้นเรื่องเดียวที่รัฐบาลไม่เปิดโอกาสใหต่างชาติ้คือด้านโทรคมนาคม

"เป็นเรื่องจริงที่รัฐบาลบอกว่าวิธีการนี้ไม่ต้องใช้เงินประเทศ แต่ผู้มาลงทุนย่อมได้ประโยชน์จากเงื่อนไขหรือสัมปทานในการเข้ามาลงทุน ต่างชาติเข้ามาก็เป็น "วิน-วิน" คือ ได้ทั้งคู่คือนักลงทุนและรัฐบาลที่จัดสรรเค้กกัน แต่ไม่ใช่ "วิน-วิน-วิน" ซึ่งวินตัวที่สามคือ ประชาชน เพราะไม่มีส่วนร่วมที่จะไปบอกว่าพวกเราต้องการอะไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการเมกะโปรเจกต์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอ้างต่อคณะฑูตเมื่อ 14 ธ.ค. 2548 ว่า ประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้สมควรจะต้องระดมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำของประเทศ ( มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท) 2.โครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่และโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (5.5 แสนล้านบาท) 3.ระบบริหารการขนส่งในการจัดทำแผนแม่บทระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเท ศ (4 แสนล้านบาท) 4.โครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านการศึกษา (9.6 หมื่นล้านบาท) และ 5.แผนลงทุนเสริมสร้างโครงสร้างสาธารณสุขแห่งชาติ (9.4 หมื่นล้านบาท) เป็นที่น่าสังเกตว่าในการชี้แจงต่อคณะฑูตประจำประเทศไทย ในส่วนของโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่และโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 5.5 แสนล้านบาทนั้น ระบุโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ซึ่งพรรคไทยรักไทยใช้เป็นนโยบายหาเสียงจนชนะใจคนกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 1.สายสีแดงเข้ม (รังสิต-มหาชัย) 2.สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-สนามบินสุวรรณภูมิ) 3.สายสีเขียวเข้ม (สะพานใหม่-บางหว้า) 4.สายสีเขียวอ่อน (พรานนก-สมุทรปราการ) 5.สายสีน้ำเงิน(บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) 6.สายสีส้ม (บางกะปิ-บางบำหรุ) 7.สายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) 8.สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 9.สายสีชมพู (ปากเกร็ด-สุวินทวงศ์) และ 10.สายสีน้ำตาลเข้ม (บางกะปิ-สุวินทวงศ์)

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม. และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยความสงสัยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของรัฐบาลเหตุใดจึงได้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา ซึ่งตนสงสัยตั้งแต่แรกแล้วว่า แผนงานของรัฐบาลมีรายละเอียดที่เพียงพอและชัดเจนแค่ไหน คุณมีการศึกษาในแง่ของความเหมาะสมของแต่ละเส้นทาง คุณศึกษาหรือไม่ว่าควรจะสร้างสายไหนก่อน จำเป็นหรือไม่ที่ต้องสร้างพร้อมกัน เพราะมันคือความเสี่ยงของการใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่เหตุใดเรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องตลกไปได้ เพราะช่วงหาเสียงบอกว่าจะสร้าง 7 สาย ใช้งบประมาณทั้งหมด 5.5 แสนล้านบาท พอนายพงศักดิ์ รัตตพงศ์ไพศาล มาเป็น รมว.คมนาคม ขอตัดเหลือ 4 สาย ที่เหลืออีก 3 สายไม่คุ้มทุน จะลดเงินงบประมาณได้ราว 2 แสนล้านบาท แต่มาวันนี้กลับบอกว่าเอาไป 10 สายเลย แต่กลับใช้งบประมาณเท่ากับการก่อสร้างแค่ 7 สาย คือ 5.5 แสนล้านบาท

ส่วนเรื่องงบประมาณการลงทุนก็สะท้อนว่า รัฐบาลมีเงินไม่พอหรือไม่ จึงใช้วิธีบาร์เตอร์เทรด และยังมีอีกหลายจุดที่ยังคลางแคลงสงสัยเช่นกัน ตอนนี้มาบอกว่าสงสัยจะต้องใช้เงินของต่างประเทศ ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลพูดเสมอว่าจะใช้เงินงบประมาณหรือเงินในประเทศ สะท้อนให้เห็นสถานะการเงินของรัฐบาลว่า รัฐบาลจะมีเงินเพียงพอหรือไม่" ส.ส.ประชาธิปัตย์ตั้งคำถาม

ขณะที่คอลัมภ์ "กวนน้ำให้ใส" โดย "สารส้ม" ใน น.ส.พ.แนวหน้า วันที่ 16 ธันวาคม 2548 ระบุว่า นโยบายนี้ก็คือการเปิดท้ายขายของระดับชาติ เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาเลือกหาชิ้นส่วนประเทศไทย เพื่อหยิบฉวยขึ้นมาทำมาหากินร่วมกัน โดยไม่ต้องถามตัวแทนประชาชนเจ้าของประเทศตัวจริงก่อนเลย ถือเป็นการ "เซ็งลี้" ประเทศ ในยาม "ถังแตก" มากกว่า

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบโต้ว่า การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ไม่ได้เป็นการให้สัมปทานต่างชาติแน่นอน ไม่ใชว่า่เขาเข้ามาแล้วจะหากินได้ถึง 20-30 ปี ดังนั้นรัฐบาลจะเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดและต้องไม่มีข้อผูกมัดระยะยาว หากใครมาเสนอขอสัมปทาน อย่างนี้รัฐบาลถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ดี แต่ถ้าเป็นเงื่อนไขว่าจะมารับจ้างเราทำงาน แล้วเราสามารถทยอยผ่อนชำระหนี้ได้ โดยอาจแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าการเกษตร อย่างนี้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ดี เราก็จะจ้างคนนั้น อย่าลืมว่าตลาดเป็นของผู้ซื้อ ถ้ามันไม่โปร่งใสเสียตั้งแต่ต้น ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกก็จะไม่อยากมาร่วมงาน

ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับโครงการขนาดใหญ่นั้น โฆษกประจำสำนักนายกฯ โต้แย้งว่า รัฐบาลไม่ได้ถังแตกเรื่องงบประมาณ ไม่มีปัญหาอะไร ล่าสุดกระทรวงการคลังก็รายงานในที่ประชุม ครม. ว่า จัดเก็บรายได้ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนสูงกว่าประมาณการ ความจริงหากจะทำตามแผนเดิมคือ ในเดือนมกราคม 2549 เราก็เริ่มประมูลได้ เพราะมีเงินอยู่แล้ว แต่ถ้ารออีก 2-3 เดือน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดก็น่าจะดีกว่า

แหล่งที่มา