ข้ามไปเนื้อหา

กฟผ.เร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้า 4 แห่งให้เสร็จตามแผน

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 

นายสมบูรณ์ อาระยะสกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างโรงฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในขณะนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ทั้ง 4 แห่ง กำลังผลิต 2,800 เมกะวัตต์ ได้เดินหน้าตามแผน โดยจะเสร็จเข้าระบบในปี พ.ศ. 2551-2553 ตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

โดยนายสมบูรณ์ กล่าวถึงต้นทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าว่า จากที่จีนและอินเดียมีการเร่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ทำให้อุปกรณ์การก่อสร้างขยับสูงขึ้น แต่จากเงินบาทที่แข็งค่ากว่าร้อยละ 10 จึงทำให้ต้นทุนในส่วนการก่อสร้างไม่ได้เพิ่มขึ้น

มีเพียงต้นทุนเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่สูงขึ้นกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเม็ดเงินลงทุนรวมทั้ง 4 โครงการ ประมาณ 64,000 ล้านบาท

โรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งได้แก่

  • โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา จะเข้าระบบเป็นแห่งแรก ซึ่งตามสัญญากับผู้รับเหมา คือ กลุ่มร่วมทุนซีเมนส์และมารูเบนิ จะสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 แต่ขณะนี้ได้พยายามเร่งให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551
  • โรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 3 ก่อสร้างโดยกลุ่มร่วมทุนมิตซูบิชิ และ ชิโนไทย ขณะนี้การก่อสร้างเร็วกว่าแผน จึงคาดว่าจะส่งไฟฟ้าเข้าระบบเร็วกว่าสัญญาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551
  • โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 ก่อสร้างโดยกลุ่มร่วมทุนซีเมนส์และมารูเบนิมีความคืบหน้า ร้อยละ 50 มีกำหนดขายเข้าระบบในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552
  • โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ก่อสร้างโดยกลุ่มร่วมทุน ซูมิโตโม ฮิตาชิ และอิตาเลียนไทย มีความคืบหน้าประมาณร้อยละ 10 กำหนดเข้าระบบในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553

นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ในส่วนของคุณภาพก๊าซธรรมชาติที่จะจัดส่งให้แก่โรงไฟฟ้าบางปะกงที่มีปัญหาเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าข้อตกลงนั้นในขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาผลกระทบที่เกิดขึ้น ระหว่าง ปตท. กฟผ.และกลุ่มผู้ก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่า การก่อสร้างจะเป็นไปตามกำหนดการเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อปลายเดือนกันยายน ทาง กฟผ.ได้ทำหนังสือถึง บมจ.ปตท.สอบถามเร่งรัดการแก้ปัญหาคุณภาพก๊าซธรรมชาติโรงไฟฟ้าบางปะกง เนื่องจากการประมูลก่อสร้างได้ใช้คุณภาพก๊าซที่ ปตท.ได้แจ้งไว้ในช่วงแรก แต่เมื่อคุณภาพก๊าซเปลี่ยนแปลง อาจให้การก่อสร้างล่าช้าไป 2-3 เดือน เพราะกลุ่มผู้รับเหมาต้องปรับแต่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามคุณภาพก๊าซที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในเรื่องนี้ กฟผ.เห็นว่าควรจะเป็นความรับผิดชอบของ ปตท.

แหล่งที่มา