"ฉลองสึนามิ" ผลาญ 300 ล้าน แกรมมี่รับอีกแล้ว ต่างชาติเมิน

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

23 ธันวาคม พ.ศ. 2548 

กรมสุขภาพจิตหวั่นรำลึกสึนามิกระตุ้นสภาพจิตคนให้ย่ำแย่ แต่รัฐบาลยังเดินหน้า "ตีปี๊บ" ทั้งที่ต่างชาติไม่เอาด้วย แกรมมี่รับใช้ชาติพร้อมรับงบประมาณแผ่นดิน 300 ล้าน

เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี ของมหาภัยพิบัติสึนามิ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงทุนจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเชื้อเชิญญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตและประสบภัยมาร่วมงานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมของงานนี้ ทางสำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่คำพูดของนักการฑูตคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ว่า การจัดงานรำลึกหรือเฉลิมฉลองดังกล่าวอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้รอดตายได้ เพราะจะยิ่งตอกย้ำความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่ดียิ่งขึ้น การจัดงานครั้งนี้จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

รายงานข่าวแจ้งว่า มีครอบครัวของผู้ประสบเหตุตอบรับคำเชิญเพียง 1,200 คน จาก 40 ประเทศ ทั้งที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ 1 หมื่นกว่าคน

นายวิทวัส ศรีวิหค เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า คำเชิญของรัฐบาลเน้นไปที่บุคคลระดับสูงและสำคัญของประเทศ รวมถึงอดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช และ บิล คลินตัน ด้วย แต่มีนักการฑูตซึ่งพำนักในไทยเพียง 60 คน จาก 40 สถานฑูตเท่านั้น ที่เข้าร่วมงานตามคำเชิญ "พวกเขาให้เหตุผลว่าต้องการอยู่ฉลองคริสมาสต์กับครอบครัวที่บ้าน"

คลื่นสีนามิถล่มชายทะเลฝั่งอันดามันของไทยเมื่อปี 2547

สำหรับสภาพของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น นางวรรณรัตน์ ทรายทอง อายุ 50 ปี ชาวบ้านน้ำเค็ม เปิดเผยว่า ตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ยังคงหวาดผวา ไม่เคยนอนหลับอย่างสนิทเลย ต้องพึ่งยานอนหลับจากจิตแพทย์ ถ้าไม่ได้กินยาถึงจะนอนหลับ ก็ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วก็ไม่หลับอีกเลย ส่วนสามีอาการหนักกว่า เพราะนอกจากจะนอนไม่หลับแล้วยังหวาดผวา เครียด ช็อก มือไม้สั่น และพูดไม่ได้ ต้องพึ่งจิตแพทย์ ต้องอาศัยยานอนหลับเหมือนกัน

ผลการศึกษาวิจัยปัญหาสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยสึนามิ โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข ดำเนินการเก็บข้อมูลใน จ.พังงา กระบี่ และภูเก็ต ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 693 คน และสำรวจซ้ำในเดือนกันยายน2548 จำนวน 550 คน พบว่า ในการสำรวจครั้งแรกผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวล ร้อยละ 25.7 เครียด ร้อยละ 30.2 ซึมเศร้า ร้อยละ 25.7 และภาวะเครียดรุนแรงหลังภัยพิบัติหรือพีทีเอสดี ร้อยละ 9.5 แต่เมื่อสำรวจครั้งที่ 2 พบว่า อาการวิตกกังวลลดลงเหลือ ร้อยละ 25.1 เครียด ร้อยละ 18.9 ซึมเศร้า ร้อยละ 18.9 และโรคพีทีเอสดี ร้อยละ 4.7

แม้ผลการฟื้นฟูสุขภาพจิตใจผู้ประสบภัยสึนามิจะทำให้จำนวนผู้มีปัญหาทางจิตใจลดลง แต่เมื่อใกล้ถึงครบรอบปีของวันเกิดเหตุ กรมสุขภาพจิตระบุว่า จะกระตุ้นให้ผู้สูญเสียครอบครัว ญาติ หรือทรัพย์สิน รวมทั้งผู้รอดชีวิตหวนระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ความทุกข์โศก และความสูญเสียอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจไม่มากนัก แต่สำหรับผู้ที่ยังทำใจไม่ได้จะทำให้เกิดความรู้สึกโศกเศร้าและเห็นภาพเหตุการณ์เดิม ๆ อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลโดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการจัดงานครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ หรือ “วันเยียร์ เมมโมรี ออฟ สึนามิ” ยังเดินหน้าจัดงานอย่างยิ่งใหญ่โดยใช้เงินงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท แม้ว่าเป้าหมายแขกต่างประเทศจะตอบรับเพียง 1,000 กว่าคน ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 คน

“จะมีชาวต่างชาติที่ยืนยันเดินทางมาร่วมงานประมาณ 1,300-1,400 คน และคนไทยประมาณ 5,000 ทำให้จะมีแขกที่ได้รับเชิญมาร่วมงานประมาณ 6,000 กว่าคน และประชาชนอื่นๆ ที่เดินทางมาร่วมงานอีกจำนวนหนึ่ง” นายสุวัจน์กล่าว

ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาร่วมงานรำลึกเป็นสิ่งที่รัฐบาลคาดหวังอย่างสูง เพื่อกระตุ้นให้การท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ แต่สาเหตุที่ชาวต่างชาติต่างเมินที่จะมาร่วมงาน แม้รัฐบาลไทยจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ไม่ว่าค่าตั๋วเครื่องบินและค่าโรงแรมที่พักนั้น ทางตัวแทนซึ่งเป็นผู้ติดต่อประสานงานต่างระบุว่า ผู้ประสบภัยและญาติของนักท่องเที่ยวต่างได้ตอบปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการซ้ำเติมคนที่ประสบเหตุ อีกทั้งงบประมาณของรัฐบาลที่ใช้จัดงานให้ก็เป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น จึงไม่อยากเดินทางในช่วงที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่จะมาหลังเสร็จสิ้นงานรำลึกหรือหลังเทศกาลปีใหม่และด้วยงบประมาณส่วนตัวมากกว่า

ทั้งนี้ ได้ประเมินแล้วว่า แม้มีผู้ร่วมงานต่ำกว่าเป้าแต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะประหยัดเงินงบประมาณ ในวงเงินเดิม 300 ล้านบาทได้ เพราะต้องใช้จ่ายไปในเรื่องของการจองที่พัก ซึ่งหากมีการยกเลิกก็ต้องเสียเงินมัดจำไปจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายกิจกรรมการแสดงในงานรำลึกยังคงต้องจ่ายในวงเงินเท่าเดิม ผู้รับผิดชอบงานส่วนนี้ได้แก่บริษัทแกรมมี่ ซึ่งจะเป็นผู้จัดอีเวนต์ต่าง ๆ ภายในงาน

แหล่งที่มา