การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 


ภาพรวมของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ณ เชียงใหม่

ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2551 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน(ระดับผู้นำ)ครั้งที่ 14 (the 14th ASEAN Summit) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12 - 14 ธันวาคม ไทยก็จะเป็นเจ้าภาพการประชุมในระดับอื่นๆ ของอาเซียน เช่น ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ เพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วย โดยการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินภารกิจการเป็นประธานอาเซียนของไทย การประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งถือเป็นองค์กรกำหนดนโยบายสูงสุดของอาเซียน เป็นเวทีการพบปะหารือระดับผู้นำรัฐหรือผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดย การประชุมสุดยอดอาเซียน มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2519 และได้รับการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันซึ่งจะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 อย่างไรก็ดี กฎบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของอาเซียนที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่โดยให้เปลี่ยนจากการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น ในฐานะประธานอาเซียน ไทยจึงจะต้องจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนอีก 2 ครั้งในปี 2552 นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว ในโอกาสเดียวกันนี้ ไทยยังจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ดังนี้ (1) การประชุมระดับผู้นำระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 6 ประเทศด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งในกรอบการประชุมสุดยอดเป็นรายประเทศกับประเทศเหล่านี้ (หรือที่เรียกอย่างสั้นๆ ว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน + 1”) และในกรอบการประชุมร่วมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน +3” และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “ความร่วมมืออาเซียน + 3” และ “การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก”) (2) การประชุมคู่ขนานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ การหารือระหว่างประธาน/ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนกับตัวแทนเยาวชนอาเซียน ผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน ผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน และผู้นำสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน โดยการที่ไทยจัดให้ตัวแทนภาคประชาชนและภาคประชาสังคมอาเซียน ได้พบกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเป้าหมายหลักที่ไทยจะผลักดันในระหว่างการเป็นประธานอาเซียน จากกำหนดการที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นผลให้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเดือนธันวาคมนี้ บุคคลสำคัญที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมที่เชียงใหม่ ประกอบด้วย ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยเลขาธิการอาเซียน (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) และเลขาธิการสหประชาชาติ (นายบัน คี มูน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้) ทั้งนี้ น่าจะประมาณได้ว่า จะมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด ทั้งระดับผู้นำและเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ไม่ต่ำกว่า 1500 คน การประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ จะมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่สำคัญหลายประการ อาทิ การที่กฎบัตรอาเซียนจะมีผลบังคับใช้อันจะนำมาซึ่งการวางรากฐานไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอาเซียน วิกฤตการณ์สถาบันการเงินโลกที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ความผันผวนของราคาน้ำมันและราคาอาหารในตลาดโลก และการครบรอบ 6 เดือนของเหตุการณ์พายุโซโคลนนาร์กีสถล่มพม่า ดังนั้น ประเด็นต่างๆ ที่ไทยจะผลักดัน และที่ที่ประชุมจะหยิบยกขึ้นหารือ ก็จะเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาหรือเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการรับมือกับเรื่องต่างๆ ข้างต้น

ร่างกำหนดการ

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2551 • การพบปะหารือระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน • การพบปะหารือระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนกับผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน • การพบปะหารือระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน • พิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 • การหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน วันอังคารที่ 16 ธันวาคม 2551 • การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 • พิธีลงนามในเอกสารต่างๆ ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 • การประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 ครั้งที่ 12 • การหารือระหว่างอาหารกลางวันระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนกับผู้นำสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน • การประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 12 • การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 • การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 12 • การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 7 • งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศต่างๆ และคู่สมรส วันพุธที่ 17 ธันวาคม 2551 ณ จังหวัดเชียงใหม่ • การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 • การหารือระหว่างอาหารกลางวันของผู้นำเอเชียตะวันออก • การพบเพื่อหารือระหว่างผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกกับผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศที่มีงานเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ (เช่น ธนาคารโลก IMF องค์กรการค้าโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย) • พิธีลงนามในเอกสารต่างๆ ของการประชุม • การแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนของนายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประธานของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ณ กรุงเทพฯ • การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าเฝ้าฯ ทั้งนี้ ร่างกำหนดการประชุม อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ซึ่งผู้ที่สนใจ สามารถตรวจสอบร่างกำหนดการและเวลาการประชุมล่าสุดได้ที่เว็บไซด์ www.14thaseansummit.org

ประเด็นสำคัญของการประชุม

1. การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 • การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การนำข้อบทต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน มาทำให้มีผลเป็นรูปธรรม โดยในการประชุมฯ เลขาธิการอาเซียน จะเสนอรายงานเกี่ยวกับอนาคตของอาเซียนภายหลังจากที่กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ด้วย • การสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงานในอาเซียน • การเสริมสร้างความร่วมมือว่าด้วยการป้องกันภัยพิบัติในอาเซียน • การเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินในอาเซียน รวมถึงการรับมือกับวิกฤตการเงินโลก 2. การประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 • การเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียน + 3 ในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค • การกำหนดทิศทางการพัฒนาของกรอบความร่วมมืออาเซียน + 3 3. การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก • การกำหนดทิศทางการพัฒนาของกรอบการประชุมเอเชียตะวันออก • การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของโลกที่เกิดผลกระทบในระดับภูมิภาค เช่น การรับมือกับวิกฤตการเงินโลก การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และการเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันและจัดการกับภัยพิบัติ การเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียน + 3 ในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค 4. การประชุมสุดยอดอาเซียน + 1 (การประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเป็นรายประเทศ) • การกำหนดทิศทางความร่วมมือและการพัฒนาของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาแต่ละประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในส่วนของจีน นั้น ที่ประชุมฯ จะหารือกันเกี่ยวกับการความคืบหน้าและอุปสรรคสำคัญของการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนด้วย • การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่างๆ ของโลกที่เกิด ผลกระทบในระดับภูมิภาค 5. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 • การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติเพื่อทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงเป้าหมายแห่งการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือที่รู้จักกันในนาม Millennium Development Goals ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เช่น เป้าหมายการลดอัตราการตายในเด็ก เป้าหมายการต่อสู้กับโรคมาเลเรีย โรคเอดส์และโรคติดต่ออื่นๆ และเป้าหมายการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น • การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติในเรื่องการจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือพม่าในช่วงการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากที่ถูกพายุ โซโคลนนาร์กีสถล่ม (เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551) • การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติในเรื่องการรับมือกับวิกฤตการเงินโลก การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และปัญหาโลกร้อน

เอกสารที่คาดว่าจะมีการลงนามหรือรับรองระหว่างการประชุม

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ จะมีผลลัพธ์การประชุมที่ปรากฏอยู่ในรูปของเอกสารที่จะรับรองโดยผู้นำหรือรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกกว่า 20 ฉบับ ซึ่งฉบับที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ • แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community Blueprint) ซึ่งเป็นเอกสารที่จะกำหนดกรอบและกิจกรรมที่จะทำให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายการเป็น “ประชาคมการเมืองและความมั่นคง” ภายในปีเป้าหมาย 2558 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “ประชาคมการเมืองและความมั่นคง”) โดยแผนงานฯ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ (1) มีกติกาและมีการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน (2) มีความความสงบสุข แข็งแกร่ง และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและความมั่นคง (3) ไม่หยุดนิ่ง และมีการคบค้าสมาคมกับประเทศภายนอกภูมิภาค • แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint) ซึ่งเป็นเอกสารที่จะกำหนดกรอบและกิจกรรมที่จะทำให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายการเป็น “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม” ภายในปีเป้าหมาย 2558 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม”) โดยแผนงานฯ จะระบุถึงการส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาคุณภาพของประชากร (2) การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (3) การให้สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (4) การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (5) การสร้างอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของอาเซียน และ (6) การลดช่องว่างทางการพัฒนา • ปฏิญญาเชียงใหม่ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน (Chiang Mai Declaration on the Roadmap for an ASEAN Community) ซึ่งเป็นเอกสาร “ปะหน้า” (cover declaration) ที่รวมแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปีเป้าหมาย 2558 • แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาของอาเซียน (Joint Declaration on ASEAN Development Goals) ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Development Goals) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ได้ อาทิ (1) การทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีไม่หยุดนิ่งในการทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (2) การลดปัญหาทางสังคมที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (3) การสร้างเครือข่ายการประสานงานกับเอกชนและภาคประชาสังคม (4) การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และ (5) การร่วมกับสหประชาชาติเพื่อจัดตั้งระบบตรวจสอบและประเมินผลของการพัฒนาตามเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ • แถลงการณ์เชียงใหม่ว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานในกรอบอาเซียน+3 (Chiang Mai Statement on ASEAN Plus Three Food and Energy Security Cooperation) ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 ในการแก้ไขและรับมือกับความผันผวนของราคาอาหารและพลังงาน โดยในแถลงการณ์จะระบุถึงมาตรการในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว เช่น การผลิตพลังงานทดแทนเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน การสร้างคลังสำรองข้าวฉุกเฉินในประเทศไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรจากประเทศ + 3 เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรอาเซียน รวมทั้งเกษตรกรไทย • แถลงการณ์เชียงใหม่ว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (Chiang Mai Statement on EAS Disaster Management) ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุถึงมาตรการต่างๆ ในการป้องกัน และจัดการกับภัยธรรมชาติ เช่น (1) การเสริมสร้างเครือข่ายเตือนภัยและให้ความช่วยเหลือระดับภูมิภาค(2) การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจของชุมชนเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม การรับข้อมูลเตือนภัย และการอพยพได้อย่างทันท่วงที (3) การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน และ (4) การควบคุมโรคระบาด ทั้งนี้ เอกสารฉบับนี้ ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พม่าที่ได้รับความเสียหายจากพายุกรณีไซโคลนนาร์กีสด้วย

แหล่งที่มา

บทความนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา
โปรดช่วยแก้ไข เมื่อบทความนี้พร้อมเผยแพร่
ให้เปลี่ยนจาก {{พัฒนา}} เป็น {{เผยแพร่}}
และบทความนี้จะปรากฏบนหน้าหลัก