การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 

ความสำคัญ

ประเทศไทยรับมอบตำแหน่งประธานของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 โดยไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจนถึงเดือนธันวาคม ศกหน้า (2552) ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นการหมุนเวียนตามตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศสมาชิกอาเซียน กล่าวคือ ในปัจจุบันที่อาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นประธานอาเซียนหนึ่งครั้งในรอบสิบปี

การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย อยู่ในจังหวะเวลาที่สำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงที่ (1) กฎบัตรหรือกฎหมายสูงสุดของอาเซียน จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งนอกจากที่ประธานอาเซียนจะมีหน้าที่ต้องดำเนินบทบาทตามที่กฎบัตรอาเซียนระบุไว้แล้ว การมีผลบังคับใช้ของกฎบัตรอาเซียน ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอาเซียน รวมถึงการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรของประชาชนอาเซียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับประธานอาเซียนในการช่วยทำให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล (2) มีการจัดทำแผนงานสำหรับการจัดตั้ง “ประชาคมอาเซียน” เพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นประชาคมเดียวกันภายในปี 2558 และ (3) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนเป็นปีแรก (2551-2555)

ภารกิจที่สำคัญของไทยในฐานะประธานอาเซียน

ในฐานะประธานอาเซียน ไทยมีบทบาทหลายประการตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ อาทิ (1) การส่งเสริมและเพิ่มพูนผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียนอย่างแข็งขัน รวมถึงความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนโดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน และความร่วมมือ (2) การเสริมสร้างการมีบทบาทนำของอาเซียนในภูมิภาค (3) การทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อประเด็นเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลกระทบต่ออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที และ (4) เป็นผู้แทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น

ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญของอาเซียน อาทิ (1) การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2551 ณ เมืองเชียงใหม่ (2) การประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 (3) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ( 42nd ASEAN Ministerial Meeting – AMM) และประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของคู่เจรจาของอาเซียน ในเดือนกรกฎาคม 2552 และ (4) การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นประมาณเดือนตุลาคม 2552

เป้าหมายของไทยในฐานะประธานอาเซียน

ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในครั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายหลักที่จะผลักดันไว้ 3 ประการ ได้แก่ (1) การอนุวัติข้อผูกพันภายใต้กฎบัตรอาเซียน (Realising the commitments under the ASEAN Charter) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การนำข้อบทต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน มาทำให้มีผลเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน และการจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน (ซึ่งจะได้รับการจัดตั้งภายหลังจากที่กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้เช่นกัน) ตลอดจนประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนที่ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา (2) การฟื้นฟูอาเซียนให้เป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Revitalising ASEAN as a people-centred Community) โดยการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้เกิดในหมู่ประชาชนทั่วไป และการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อลบภาพในอดีตว่า อาเซียนเป็นองค์กรสำหรับภาครัฐ โดยประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเท่าที่ควร โดยในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้ ไทยจะจัดให้มีการประชุมของภาคประชาสังคมอาเซียน (ASEAN Civil Society Conference) ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในเดือนธันวาคม ศกนี้ด้วย โดยผลของการประชุมของภาคประชาสังคม จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป (3) การเสริมสร้างการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์สำหรับประชาชนทุกคนในภูมิภาค (Reinforcing human development and security for all peoples of the region) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การทำให้ผลการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะการทำให้ความร่วมมือของอาเซียนสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านการเงินในภูมิภาค ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะเป็นหนึ่งในบรรดาเรื่องที่ไทยหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคม 2551

ยุทธศาสตร์ของไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน

• เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ยุทธศาสตร์ที่ไทยจะใช้ในการดำเนินการ ได้แก่ (1) การสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนไทยในเรื่องอาเซียน หรือการทำให้เรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียน รวมถึงประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนจะได้รับจากความร่วมมือของอาเซียน เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป (2) การส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน (3) การเสริมสร้างให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมตัวกันเป็น ‘ประชาคมอาเซียน’ ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ภายในปีเป้าหมาย 2558 และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง เช่น การสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

แหล่งที่มา

บทความนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา
โปรดช่วยแก้ไข เมื่อบทความนี้พร้อมเผยแพร่
ให้เปลี่ยนจาก {{พัฒนา}} เป็น {{เผยแพร่}}
และบทความนี้จะปรากฏบนหน้าหลัก