เศรษฐกิจซบไตรมาส 3 เอนพีแอลพุ่งพรวด

จากวิกิข่าว, แหล่งข่าวเสรีที่คุณร่วมเขียนได้

27 ตุลาคม พ.ศ. 2550 

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้รายงานยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 หรือสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ พบว่า สถาบันการเงินทั้งระบบมีเอ็นพีแอลรวมทั้งสิ้น 260,722.67 ล้านบาท หรือ 4.44% ของสินเชื่อรวม เทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่มีเอ็นพีแอล 254,510.23 ล้านบาท หรือ 4.41% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 6,212.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.44% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลจากสถาบันการเงินทุกประเภท ยกเว้นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) ที่เอ็นพีแอลลดลง 6.47 ล้านบาท

ธนาคารพาณิชย์ไทยมีหนี้เอ็นพีแอล สิ้นไตรมาสที่ 3 ทั้งสิ้น 254,784.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 5,311.26 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 3,670.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 789.91 ล้านบาท หรือ 27.42% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่บริษัทเงินทุน 1,985.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 6.30%

ทั้งนี้ยอดหนี้เอ็นพีแอลจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เผชิญปัจจัยลบหลายด้านในช่วงดังกล่าว ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน กำลังซื้อในประเทศลด ส่งผลให้ภาคธุรกิจประสบปัญหาหลายแห่ง เช่นเดียวกับประชาชนที่ประสบปัญหาด้านการเงินเช่นกัน

สำหรับเอ็นพีแอลในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สถาบันการเงินทั้งระบบมีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 254,510.23 ล้านบาท หรือ 4.41% ของสินเชื่อรวม ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเอ็นพีแอล 249,473.15 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างชาติ 2,880.58 ล้านบาท บริษัทเงินทุน 1,867.36 ล้านบาท และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 289.13 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาเอ็นพีแอลมีผลกดดันต่อธนาคารพาณิชย์ไทยจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเกณฑ์การจัดชั้นหนี้เสีย ตามสภาพของ ธปท. จึงทำให้เอ็นพีแอลครึ่งปีหลังนี้ลดลงยาก

สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น มี 9 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงเทพ, ธ.เกียรตินาคิน, ธ.ทหารไทย, ธ.ธนชาต, ธ.นครหลวงไทย, ธ.ยูโอบี (ไทย), ธ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย และ ธ.สิน เอเซีย ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่ยอดเอ็นพีแอลลดลง ได้แก่ ธ.กรุงไทย, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กสิกรไทย, ธ.ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย, ธ.ทิสโก้, ธ.ไทยพาณิชย์, ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และ ธ.เมกะสากลพาณิชย์

แหล่งที่มา